วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จุดกำเนิดของคอนแทคเลนส์!!

ในปัจจุบันมีประชากรถึง 2% จากทั่วโลกที่ใส่คอนแทคเลนส์ หรือ ประมาณ 125 ล้านคน โดยมีที่สหรัฐอเมริกา 28-38 ล้านคน และ ที่ญี่ปุ่น 13 ล้านคน ฯลฯ โดยเหตุผลของแต่ละคนในการใส่คอนแทคเลนส์นั้นก็มาจากหลากหลายสาเหตุ หนึ่งในเหตุผลนั่นก็เพื่อความคล่องตัว เพราะการใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้คล่องตัวมากกว่าการใส่แว่นตา โดยเฉพาะเวลาเล่นกีฬา เป็นต้น อีกทั้งการใส่คอนแทคเลนส์นั้นมีผลกระทบในช่วงตอนอากาศหนาวน้อยมากและยัง สามารถมองภาพได้ในมุมกว้าง เนื่องจากไม่มีกรอบมาจำกัดเหมือนแว่นตา แต่น้องๆที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่ตอนนี้ เคยทราบที่มาของเจ้าเลนส์จิ๋วมหัศจรรย์นี่หรือไม่ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร!?

บุคคลแรกที่นำเสนอเรื่องคอนแทคเลนส์ เป็นบุคคลที่เป็นทั้งนักวาดภาพ ประติมากร วิศวกร และ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เขาคนนั้นก็คือ ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) นั่นเอง จากหนังสือ Codex of the Eye, Manual D ของเขาที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 16 เขาได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาสายตาสั้น โดยใช้หลอดสั้นๆบรรจุน้ำและปิดปลายด้านหนึ่งด้วยเลนส์แผ่นเรียบ ส่วนปลายอีกด้านปล่อยไว้ให้แนบกับตา น้ำจะสัมผัสกับนัยน์ตาและช่วยหักเหแสง กล่าวได้ว่า มันทำหน้าที่เหมือนเลนส์โค้งนั่นเอง ซึ่งวิธีของดาวินชีนี้เป็นหลักการเดียวกับที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์ในปัจจุบันค่ะ อย่างที่เรารู้กันว่านัยน์ตาของมนุษย์นั้นบอบบางมาก วัตถุที่จะมาสัมผัสได้จะต้องมีความเรียบอย่างยิ่ง

เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1887 Adolf Fick ได้ผลิตคอนแทคเลนส์สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมันถูกทำมาจากกระจกสีน้ำตาล ซึ่งเขาเองก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับดวงตาส่วนคลอเนียมาจากหนังสือ Codex of the Eye, Manual D ของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1508 ส่วนความรู้เกี่ยวกับกระจกที่ของเหลวสามารถซึมเข้าไปได้และไปติดอยู่ที่คลอเนียได้ René Descartes ใช้กระจกใส แต่ความคิดนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นในช่วงหลายศตวรรษที่ยังใช้กระจกมาทำเป็นเลนส์ จึงมีปัญหาเรื่องความระคายเคืองอยู่มาก เพราะถึงแม้จะฝนกระจกให้เรียบที่สุดแล้วมันก็ยังคงมีความหยาบอยู่นั่นเอง คอนแทคเลนส์ที่ใช้การได้ดีถูกพัฒนาขึ้นโดยด็อกเตอร์ เอ อี ฟิค (ชาวสวิส) ซึ่งเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Lens) แน่นอนว่ามันยังคงมีความหนาและไม่สบายตา กระจกที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์มีทั้งแบบที่เป่าขึ้น และ แบบหลอมให้มีผิวเรียบและความโค้งตามต้องการ แล้วจึงตัดให้มีขนาดพอดีกับตา คอนแทคเลนส์ในสมัยนั้นไม่ได้ใส่ไว้แค่บริเวณตาดำแต่มันจะคลุมทั้งลูกนัยน์ตา เลนส์ของเขาช่วยให้เห็นภาพได้ชัดสมบูรณ์แบบและผู้สวมใส่ต้องฝึกความอดทนแต่สถานเดียว

ถึงอย่างไรก็ตาม กระจกยังคงเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์อยู่จนถึงปี ค.ศ. 1936 ในปีนั้นบริษัทไอ จี ฟาร์เบน ของเยอรมนี ได้ผลิตเพลกซิกลาสซึ่งเป็นเลนส์พลาสติกแบบแข็งออกมา และ ได้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ผลิต จนช่วงกลางทศวรรษ Sir John Herschel ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับคอนแทคเลนส์ออกมา 2 แบบ คือ เรื่องเกี่ยวรูปร่างของคอนแทคเลนส์ ซึ่งควรมีลักษณะเป็นวงกลม และ ควรจะมีลักษณะเหมือนเจล มีความโปร่งใสในระดับปานกลาง แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ผลนัก เนื่องจากเลนส์มักจะหลุดออกจากตาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม จากแนวความคิดทั้งสองนี้ทำให้ในปี ค.ศ. 1929 Hungarian Dr. Dallos สามารถหาวิธีที่ดีที่สุดในการผลิตคอนแทคเลนส์ได้ ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่สามารถผลิตคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสำหรับใช้กับดวงตาได้ คือ เลนส์ขนาดเล็กพอดีกับตาดำอย่างทุกวันนี้ จากนั้นจึงได้มีการออกแบบเลนส์แบบต่างๆเรื่อยมา

การผลิตคอนแทคเลนส์ทุกวันนี้ยังคงยึดหลักการที่ว่า คอนแทคเลนส์ที่ดีจะต้องอุ้มน้ำได้มาก โดยเฉพาะเลนส์ที่อุ้มน้ำได้ถึงร้อยละ 80 ด้วยเชื่อว่าน้ำจะช่วยให้เราไม่เคืองตาและถือเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้เยื่อตา ทั้งที่ความจริงแล้วเลนส์ที่มีน้ำน้อยจะให้ภาพที่ชัดและถูกต้องกว่า


Credits:
Qtlens.com, ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ 108 ซองคำถาม, สำนักพิมพ์สารคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น