วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่อง..โรคที่เกิดจากการใช้เลนส์สัมผัส

โรคที่เกิดจากการใช้เลนส์สัมผัส
เกิดตุ่มอักเสบบนหนังตาด้านใน พบมากในผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัสชนิดอ่อน สาเหตุเกิดจากการระคายเคือง
เนื่องมาจากเลนส์ถูกดึงขึ้นข้างบนโดยตุ่มที่หนังตาบนด้านใน (papilla) เมื่อเวลาหนังตาบนเคลื่อนไหว
และสารตกค้างบนผิวของเลนส์ยังกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น ส่วนอาการอื่นที่เกิดต่อเนื่องมาคือ ภาวะ
หนังตาตก ตาแดง ระคายเคือง มีการสร้างสารจำพวกโปรตีนที่ละลายได้ (mucoid) มองภาพไม่ชัด
มีน้ำตา ตาไม่สู้แสง

เกิดการอักเสบของกระจกตา และเยื่อตาขาวส่วนที่สัมผัสกับของเลนส์สัมผัส อาการนี้ หากเกิดจากการแพ้
หรือจากพิษข้างเคียงของวัตถุกันเสียหรือสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อ เยื่อตาขาวส่วนล่างจะแสดงอาการอักเสบ
เนื่องจากน้ำยาจะไหลลงมาด้านล่างเป็นอาการแพ้ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี

อาการอักเสบของกระจกตา (Contact Keratoconjunctivitis) พบมากในรายที่ฆ่าเชื้อเลนส์ด้วยวิธีใช้
สารเคมี นอกจากนั้น การเกิดสิ่งสะสมบนเลนส์ หรืออาการตาแห้ง จะทำให้อาการอักเสบเกิดมากขึ้น

อาการตาแห้งซึ่งเกิดจากการแพ้ พบในผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัสมานาน 2-3 ปี นอกจากนี้ผู้ใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยา
รักษาโรคหัวใจประเภทเบต้าบล๊อกเกอร์ ก็อาจเกิดอาการตาแห้งได้เช่นกัน ปัจจัยอื่นที่ทำให้ตาแห้ง เช่น
- การกระพริบตาที่ผิดปกติที่เกิดจากเส้นประสาทที่ 5 และที่ 7 เป็นอัมพาต
- ตาโปนผิดปกติ (exophthalmos)
- ผิวของลูกตาผิดปกติ เนื่องจากมีจุดเหลือง ๆ บนกระจกตาหรือต้อลม (pingueculum)หรือต้อเนื้อ
(pterygium)
- ผิวเลนส์สัมผัสไม่เรียบ

ผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งจึงไม่ควรใช้เลนส์สัมผัสชนิดที่เข้ากับน้ำได้ดี (hydrophilic) เนื่องจากเลนส์ชนิดนี้
จะดูดซับน้ำตาและสารที่ตาสร้างขึ้นมาเคลือบผิวลูกตาโดยเฉพาะส่วนของกระจกตา

การอักเสบ ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เยื่อบุผิวของกระจกตา เนื่องจากเกิดบาดแผลหรือการช้ำที่เยื่อตา ตาแห้ง
มีอาการแพ้ หรือขาดออกซิเจน ซึ่งแผลจุดเล็ก ๆ อาจมารวมกันเข้าเป็นบริเวณใหญ่ และเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเป็น
อันตรายได้ จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้เลนส์สัมผัส จนกว่าแผลจะหายเสียก่อนการอักเสบของเยื่อตา
บริเวณขอบตาขาวต่อกับตาดำด้านบน เนื่องจากตาแห้ง เป็นโรคภูมิแพ้ หรือขาดออกซิเจน โดยอาการที่พบ
ในขั้นแรก คือกลุ่มเส้นเลือดหรือท่อน้ำเหลืองเกิดขึ้นมากที่บริเวณผิวตื้น ๆ ต่อมาจะมีความผิดปกติของขอบ
กระจกตา มีอาการบวมและมีอาการคล้ายเยื่อมูกอักเสบ หากยังใส่เลนส์ต่อไปจะเกิดมีเนื้อเยื่อแข็งกลายและเป็น
แผลเป็นขึ้นที่กระจกตา

การติดเชื้อ เป็นอาการของโรคที่เกิดจากการใช้เลนส์สัมผัสที่เป็นอันตรายที่สุด เนื่องจากทำให้ตาบอดถาวรได้
พบในผู้ที่ใช้เลนส์ชนิดที่ใส่ติดต่อกันได้นาน ๆ หรือจากการเกิดรอยถลอกเนื่องจากการเคลื่อนไหวของเลนส์
ที่ใส่อยู่เป็นประจำหรือการขาดออกซิเจนและการมีรอยช้ำอยู่ประจำจนทำให้เกิดแผลขึ้น โดยเฉพาะในกรณี
ที่ผู้ใช้มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็จะเกิดแผลที่กระจกตาได้ง่ายกว่าปกติ

สาเหตุที่เกิดการติดเชื้อยังอาจมาจากตัวผู้ใช้เอง หรือมาจากน้ำยาที่ใช้กับเลนส์ หรือภาชนะบรรจุเลนส์
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนคนที่ใช้เลนส์สัมผัสแล้วเกิดการติดเชื้อยังมีไม่มาก ยังคงพบว่าการใช้เลนส์สัมผัส
ชนิดที่ใส่นานๆจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น

การป้องกันอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการใช้เลนส์สัมผัส อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับตาในผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัสอาจป้องกันได้ ดังนี้
- การคัดเลือกผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง เพราะการประกอบเลนส์สัมผัสให้ผู้ใช้ต้องคำนึงถึงสภาวะของผู้ใช้ว่า
เหมาะสมหรือไม่ มีข้อห้ามอะไรหรือไม่
- การประกอบเลนส์สัมผัสที่เหมาะสมต้องเลือกเลนส์สัมผัสให้เหมาะกับผู้ใช้เฉพาะรายไป
- การสาธิตวิธีการใช้ให้ผู้ใช้ เช่น การใส่ ถอด ทำความสะอาด และวิธีดูแลรักษา การฆ่าเชื้อเลนส์
- นอกจากนี้ต้องแนะนำผู้ใช้รู้จักปรึกษากับผู้ประกอบเลนส์สัมผัสในกรณีมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับตา
- การดูแลในภายหลัง จำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ใช้เลนส์สัมผัสชนิดที่ใช้ใส่ติดต่อเป็นเวลานาน ๆ
( extended wear) เพราะการใช้เลนส์ชนิดนี้ต้องดูแลระมัดระวังเป็นพิเศษ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ.คำนูณ อธิภาส (จักษุแพทย์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น